...ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง
ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจในกันและกันได้ทุกกรณี
โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้น
ทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล
จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราวปัญหา
และกระทำได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี มีประสิทธิผล...
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดี 2 ก.ค.2535)
...จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ
เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทั้งจิตใจทั้งความประพฤติ
ดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกัน
อย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด
ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต
ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุกสงบ...
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้น เมื่อวันเสาร์ 15 ธ.ค.2516)
...หลักของคุณธรรม คือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน
เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส
ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว
ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่างๆ
ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม...
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ 10 ก.ค.2535)
...การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ
และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า
แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว
ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยไม่ทันรู้สึกตัว...
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ รร.นายร้อยตำรวจฯ วันจันทร์ 10 มี.ค.2529)
ที่มา : http://misscat.exteen.com/20081205/entry