บริจาคเข้าไป “เลือด” หายไปไหนหมด?
บริจาคกันไปครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุใดจึงไม่เคยหยุดเรียกร้องขอ “เลือด” เพิ่มเสียที? เล่นเอาหลายคนตั้งข้อสงสัยอยู่ภายในใจเกี่ยวกับการจัดสรรโลหิตของสภากาชาดไทยว่าอาจมีนอกมีใน เพราะไม่ว่าบรรดาคนใจบุญจะอาสาตบเท้าเข้ามาถ่ายเทน้ำใจจากปลายเข็มสู่ถุงบรรจุโลหิตกันมากเพียงใด แต่ดูเหมือนว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการเสียที ตกลงแล้วเลือดของพวกเราหายไปไหนหมด?
ต้องได้วันละ 2,000 ยูนิต!
จะว่าไปแล้วคนไทยเองก็คุ้นชินกันเป็นอย่างดีสำหรับการบริจาคโลหิต โดยเฉพาะถ้อยคำรณรงค์เชื้อเชิญ 'ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตเพื่อการกุศล' รวมทั้งการรับบริจาคเลือดในสถานที่ หรือนอกสถานที่จำพวกรถรับบริจาคเลือดขนาดใหญ่ที่พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์และบุคลากร เหล่านี้บ่งบอกชัดเจนเลยว่าการบริจาคเลือดไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคม
แต่ปรากฎการณ์การขอรับบริจาคเลือดในเมืองไทยก็ทำให้อดสงสัยเสียไม่ได้ กลายๆ ว่าตัวตั้งตัวตีอย่างสภากาชาดไทยเดินเกมรุกอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง รณรงค์เชื้อเชิญให้ผู้มีจิตกุศลเข้ามาบริจาคเลือดอย่างไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะด้วยรถรับบริจาคเลือดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนวอล์กอินเข้ามาบริจาคในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งบอกได้เลยว่าที่ผ่านมาผู้บริจาคเลือดเองก็มีจำนวนไม่ใช่น้อยแต่ก็ไม่เคยสิ้นเสียงการขอรับบริจาคโลหิตเสียที
แล้ว 'เลือด' หลายร้อยหลายพันยูนิตในแต่ละวันที่ถูกบริจาคเข้ามามันหายไปไหน ซึ่งตามสถิติของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังระบุไว้อีกว่าทางหน่วยงาน 'ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ทุกวัน...อย่างน้อยวันละ 1,500-2,000 ยูนิต' คำถามที่เกิดขึ้นก็คือเลือดจำนวนมากมายขนาดนี้ถูกนำไปทำอะไรกัน ทำไมในสังคมไทยถึงมีความต้องการเลือดมากเพียงนี้ 'ต้องเสีย(บริจาค)เลือดกันสักเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ'
เราขาดเลือดตลอดเวลา?
“เลือดที่เข้ามามันไม่ได้เอาเก็บไปไว้เหมือนการฝากเงินสะสมในธนาคาร แต่มีการเบิกใช้ทุกวัน สมมุติวันนี้ได้เลือดมา 2,000 ยูนิต แต่วันรุ่งขึ้นคนเบิกไป 1,600 ยูนิต เหลือ 400 ยูนิต มันก็เท่ากับว่าถ้าคนเบิกไปแล้วเราไม่ได้มีเลือดเข้ามามันก็หมด เราก็เลยต้องมีอะไรดลใจให้เขามาบริจาคทุกวันให้ได้ประมาณ 1,500 - 1,600 ยูนิตทุกวัน” พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อธิบายถึงสถานการณ์ของการบริจาคโลหิตในประเทศไทย
อย่างทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ มีสต๊อกเลือดอยู่ประมาณ 3,000 ยูนิต หากกรณีไม่มีคนมาบริจาคเลยก็จะอยู่ได้อีกประมาณ 2 วัน เพราะว่าตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่คนไข้จำเป็นต้องใช้เลือดก็ขอเลือดกันเข้ามา ดังนั้นเฉลี่ยต่อวันทางสภากาชาดต้องจ่ายเลือดออกร่วมพันยูนิต จึงเป็นเหตุให้หน่วยงานต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาบริจาคเลือดกันอย่างต่อเนื่อง
สรุปคือจริงๆ แล้วเลือดที่รับบริจาคเข้ามานั้นจะถูกนำไปใช้อย่างรวดเร็ว ความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดในการรักษานั้นยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือดถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการพิทักษ์ชีพผู้ป่วยและใช้ในปริมาณมาก
กล่าวคือ 77 เปอร์เซ็นต์ของเลือดที่ได้รับบริจาคเข้ามาจะถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนในภาวะสูญเสียโลหิต อย่างเช่นอุบัติเหตุ, การผ่าตัด, โรคกระเพาะอาหาร, การคลอดบุตร ฯลฯ
ส่วนอีก 23 เปอร์เซ็นต์ จะนำเลือดไปใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย, เกล็ดโลหิตต่ำ, ฮีโมฟีเลีย ฯลฯ
โดยทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ จะมีแผนกำหนดออกมาเป็นรายปีเลย อย่างเช่นส่งหน่วยไปรับบริจาคโลหิตนอกสถานที่ในแต่ละวันเป็นจำนวน 8 หน่วย เพื่อหาเลือดให้ได้ตามเป้าหมายประมาณ1,500 ยูนิตต่อวัน
“คนส่วนใหญ่ชอบสงสัยว่าขอบริจาคเลือดเยอะ คิดว่าเลือดเหลือเยอะ ไม่ต้องบริจาคแล้ว คนเขาเข้าใจว่าเลือดมันเก็บไว้ไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วเรามีคนไข้ทุกวัน โดยเฉพาะคนไข้รักษาโรคมะเร็งเขาใช้เลือดเยอะ อย่างผ่าตัดหัวใจก็ใช้เลือดเยอะมาก 10 ยูนิตขึ้นไป ตรงนี้มันต้องมีเลือดสำรองเตรียมพร้อม หรือได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงต้องใช้ถึง 30 - 40 ยูนิต อย่างทางใต้ที่ถูกระเบิดขาขาดต้องใช้อีก 30-40 ยูนิต ที่สำคัญถ้าไม่มีเลือดต่อให้หมอเย็บผ่าตัดเก่งก็ไม่มีความหมาย คือเลือดมันช่วยชลอซื้อเวลาให้หมอผ่าตัด” ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
แม้ทุกวันนี้ยอดผู้เข้าบริจาคโลหิตจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่กระจายตามโรงพยาบาลทั่วประเทศอยู่ดี โดยปกติการบริจาคเลือดนั้นสามารถบริจาคซ้ำได้ระยะเวลา 3 - 6 เดือน แต่ผู้บริจาคจำนวนมากก็ไม่ได้มีพฤติกรรมบริจาคซ้ำเช่นนั้น จึงกลายเป็นการบ้านให้ทางศูนย์บริการโลหิตฯ ต้องแก้กันต่อ เพราะดูท่าการรณรงค์เชิญชวนอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะได้ผลเพียงครั้งเดียว จึงได้แต่หวังว่ามาตรการการกระตุ้นที่สภากาชาดพยายามทำอยู่จะช่วยปลูกฝังให้ประชาชนบริจาคเลือดกันอย่างยั่งยืน และอาจเป็นแนวทางในการบรรเทาปัญหาขาดเลือดได้ในอนาคต
การบริจาคโลหิตก็คงคล้ายๆ กับออกซิเจนที่มอบลมหายใจให้แก่มนุษย์ จะผิดกันก็ตรงที่ออกซิเจนนั้นธรรมชาติเป็นผู้สรรค์สร้างให้แก่โลก แต่โลหิตนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องสละเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยตัวเอง...
.................
“เลือด” แต่ละยูนิต
ทราบกันดีในกลุ่มวิชาชีพแพทย์ว่าเลือดนั้นจะมีอายุขัยเพียง35 วันหลังจากถูกลำเลียงออกจากร่างกายเข้าถุงบรรจุ และต้องเก็บรักษาในอุณภูมิ 1-6 องศา (เฉลี่ย 4 องศา) จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรคติดเชื้อในโลหิตตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพื่อความปลอดภัยในการนำไปรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเชื้อซิฟิลิส, ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสเอชไอวี ฯลฯ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-6 ชั่วโมงจึงจะเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าว
เลือดแต่ละ 1 ยูนิตจะถูกนำไปแยกส่วนของโลหิตเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยอย่างตรงอาการและมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นเม็ดเลือดแดงเข้มข้น สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือด, ผู้ป่วยผ่าตัด, โรคหัวใจ, โลหิตจาง, ผู้ป่วยที่มีภาวะซีดมาก อย่าง ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดโลหิตขาว โลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเมื่อแยกสารประกอบแล้วจะมีอายุประมาณ 1 เดือน หรือเกร็ดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก, เลือดออกในสมอง ซึ่งจะมีอายุเพียง 5 วันเท่านั้น ฯลฯ แต่ละสารประกอบที่ถูกสลัดออกมาจะถูกนำไปใช้รักษาจำเพาะโรค
ในประเทศไทยนิยมแยกเลือดในระบบเอบีโอ ซึ่งเลือดที่มีจำนวนน้อยและหายากคือกรุ๊ปเอบี โดยมีประมาณ 7เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้าเยอะหน่อยก็คือกรุ๊ปโอคือประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ รองลงมากคือกรุ๊ปบี ประมาณ34เปอร์เซ็นต์ และกรุ๊ปเอ ประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีกรุ๊ปพิเศษในระบบอาร์เอช เรียกว่าอาร์เอชลบซึ่งพบน้อยมากในเมืองไทย แค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
สำหรับคนที่กลัวการบริจาคเลือดว่าอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ก็คงต้องยืนยันกันอีกสักครั้งว่าการบริจาคเลือดเพียง 350 - 450 ซี.ซี. นั้นไม่มีผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย มิหนำซ้ำยังช่วยกระตุ้นการทำงานของผู้บริจาคอีกด้วย มีการศึกษากันว่านอกจากจะช่วยให้ไขกระดูกทำงานได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยในการผลิตเม็ดเลือดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมอีก รู้อย่างนี้แล้ว ลองตบเท้าเข้ามาบริจาคกันสักทีจะเป็นไรไป...
ที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th |