ชะพลู
ชะพลู มีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายของมนุษย์อย่างมาก คือแคลเซียม และวิตามินเอ ซึ่งจะมีสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมี ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย และสารคลอโรฟิล ส่วนสรรพคุณทางยานั้นช่วยบำรุงธาตุ แก้จุกเสียดการกินใบชะพลูมากๆชนิดที่เรียกว่ากินกันทุกวัน กินกันแทบทุกมื้อ เช่น ชาวบ้านภาคอีสานนั้น แคลเซียมที่มีในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้าสะสมมากๆอาจกลายเป็นนิ่วในไตได้ แต่โดยทั่วๆไปในชีวิตประจำวันก็ไม่มีใครกินชะพลูได้มากมายขนาดนั้น ถ้ากินใบชะพลูต้องกินร่วมกับเนื้อสัตว์ ร่างกายจึงใช้แคลเซียมที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb.
วงศ์ Piperaceae
ชื่ออื่น/ชื่อถิ่น ช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ) พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ลำต้นแบ่งเป็นข้อโดยตามข้อจะมีรากช่วยในการยึดเกาะ ใบมีสีเขียวสดเป็นมัน ฐานใบกว้าง ปลายใบแหลมคล้ายรูปหัวใจ เห็นเส้นใบชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย ดอกสีขาวมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่ออัดกันรูปทรงกระบอกยาว
แหล่งที่พบ
ปลูกตามบ้านทั่วไปหรือตามที่ชื้นแฉะริมน้ำ
สารที่พบ
ชะพลูมีน้ำมันหอมระเหยที่ทำให้เกิดกลิ่นเผ็ดฉุนและมีคุณค่าทางสารอาหารที่สำคัญคือมีแคลเซียมและสารเบต้า-แคโรทีนในปริมาณสูงในส่วนของงานวิจัยเป็นการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลโดยศึกษาฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดชะพลู (ใช้น้ำสกัดเอาสารสำคัญของชะพลูทั้งต้น)โดยใช้หนูทดลองผู้ทดลองแบ่งหนูออกเป็น2กลุ่ม หนูกลุ่มแรกถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานหนูกลุ่มที่สองเป็นหนูปกติ แล้วฉีดสารสกัดของชะพลูเข้าไปในหนูทั้งสองกลุ่ม วัดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อฉีดเข้าไปครั้งแรกพบว่าสารสกัดชะพลูในขนาด 0.125 และ 0.25 กรัมต่อน้ำหนักของหนู 1 กิโลกรัม ไม่ช่วยลดระดับน้ำตาลของหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานแต่เมื่อให้สารสกัดต่อไปอีก 7 วันพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานลดลงซึ่งผู้ทดลองก็ได้นำยาแผนปัจจุบัน คือ ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) มาทดสอบกับหนูทั้งสองกลุ่มเช่นกันพบว่าได้ผลเช่นเดียวกับสารสกัดชะพลู
ในใบชะพลู 100 กรัม ให้พลังงานกับร่างกาย 101 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- เส้นใย 4.6 กรัม
- แคลเซียม 601 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
- เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม
- วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม
- วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม
- ไนอาซิน 3.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 22 มิลลิกรัม
- โปรตีน 5.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 14.2 กรัม
- และให้เบต้า-แคโรทีนสูงถึง 414.45 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
ข้อควรระวัง
ไม่ควรรับประทานใบชะพลูมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ และทำให้มีการสะสมของสารออกซาเลท (Oxalate) ในร่างกายสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนิ่วในไต
สรรพคุณ:
ใบ: รสเผ็ดร้อน เจริญอาหาร ขับเสมหะ ทำเสมหะให้งวด ทำให้เลือดลมซ่าน
ดอก (ลูก): รสเผ็ดร้อน แก้ศอเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้
ราก: รสเผ็ดร้อน แก้คูถเสมหะ ขับเสมหะให้ตกทางทวารหนัก บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ทำให้เสมหะแห้ง
ต้น: รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะในทรวงอก ขับเสมหะ
ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร
ใบสดมีรสเผ็ดซ่าลวกเป็นผักจิ้มหรือรับประทานสดโดยใช้เป็นใบห่อเมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู รองก้นกระทงห่อหมก ซอยใส่ข้าวยำ หรือนำไปชุบแป้งทอดเป็นกับแกล้มก็ได้ นอกจากนี้ใบอ่อนนำไปใส่ในแกงกะทิต่าง ๆ เช่นคั่วไก่
วิธีปลูก
ขยายพันธ์โดยปักชำในดินร่วนซุย รดน้ำให้ชุ่มในระยะที่ต้นกล้ายังไม่แข็งแรง ไม่ควรให้โดนแดดมากนัก
ที่มา : http://www.the-than.com/samonpai/sa_3.html |