ผักหนาม
มักพบ “ผักหนาม” หรือชื่อท้องถิ่นอื่นเรียกกะลี ได้ตามแหล่งธรรมชาติทั่วไปในทุกภาคของไทย มีสรรพคุณทางยาด้วย อย่างใบอ่อนนำมาต้มลวกจิ้มกับน้ำพริก ขณะที่ลำต้นนำมาตากแห้ง ใช้แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้คัน หรือทำเป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ เป็นต้น
ผักหนาม เป็นไม้ล้มลุกข้ามปี ในวงค์ ARACEAE ตระกูลเดียวกับพวกบอน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นเมื่อพ้นดินจะสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร มีหนามแข็งตามลำต้น ลักษณะของลำต้นจะตั้งตรง
ใบผักหนาม เป็นใบเดี่ยว คล้ายรูปหัวใจเว้าลึก มีหนามตามเส้นใบของท้องใบ ก้านใบยาวประมาณ 120 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ผืนใบเรียบ
ดอกของผักหนาม ออกเป็นช่อ อัดกันแน่น แต่ละดอกเป็นแท่งยาวเท่ากับก้านใบ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมีสีน้ำตาล ก้านช่อยาวมีหนาม จานรองดอกสีม่วงแดงบิดเป็นเกลียว เมื่อแก่มีสีม่วงคล้ำ มีเกสรอยู่ตรงกลางสีขาว
ผลผักหนาม เป็นผลเดี่ยวเล็กๆ รูปทรงกระบอก เมื่อเป็นผลอ่อนสีเขียว พอสุกจะมีสีเหลืองแกมแดง
การขยายพันธุ์ผักหนาม โดยวิธี เพาะเมล็ด ชอบดินร่วน ความชื้นมาก และแสงแดดส่องถึงเต็มวัน...
รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ:
ผักหนาม รสจืด ผักหนามดองรสเปรี้ยว
ผักหนาม 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 18 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.8 กรัม แคลเซียม 14 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 6383 IU บีสอง 0.04 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 23 มิลลิกรัม
ประโยชน์ทางอาหาร:
ส่วนที่เป็นผัก/ฤดูกาล ยอดอ่อน ใบอ่อน ของผักหนามใช้เป็นผักได้ มีมากในฤดูฝน
ประโยชน์ทางยา:
เหง้าของผักหนามมีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ แก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และถอนพิษ
รากและใบ มีสรรพคุณขับเสมหะ
ก้านและใบของผักหนามตำรวมกับเกลือให้วัวควายกิน ทำให้วัวควายกินอาหารได้ อ้วนท้วนสมบูรณ์
การปลูก:
ผักหนามเป็นผักที่ชอบที่มีความชื้นสูง ดินชื้นแฉะหรือบริเวณริมหนอง การขยายพันธุ์ทำได้โดยแยกหน่อผักหนามจากต้นแม่ไปปลูกบริเวณที่ต้องการ
ลักษณะพฤกษศาสตร์:
ผักหนามเป็นไม้ที่พบในบริเวณที่ชื้น ริมหนองน้ำ ข้างลำธาร หรือริมแม่น้ำในป่าดงดิบกระจายในทุกภาคของเมืองไทย ผักหนามเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีหนามแหลมตามลำต้น มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 - 5 ซม. ลำต้นทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวลูกศรหรือขอบใบยับเว้าลึกออกเป็นแฉก ๆ รอยเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบมีราว 11 แฉก ใบกว้างมากกว่า 25 ซม. ยาว 30 - 40 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 20 - 50 ซม. มีหนามอยู่ตามลำต้นและก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ช่อดอกเป็นแท่งและมีดอกย่อยอัดกันแน่น มีกาบหุ้มช่อดอกสีน้ำตาล ก้านช่อดอกยาวและมีหนาม ผลเป็นผลสดสีเขียว ติดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก
การปรุงอาหาร:
ผักหนาม มี hydrocyanic acid จะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนจึงจะรับประทานผักหนามโดยนำยอดอ่อนและใบอ่อนไปต้ม ลวก หรือต้มกะทิ รับประทานกับน้ำพริกปลาร้า บางแห่งนำไปปรุงเป็นแกง แกงส้ม แกงกับไตปลา หรือผัดก็ได้
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ :
www.magnoliathailand.com
www.prc.ac.th
|