น้องตูบสงคราม (War Dog) เยอรมันนีเป็นชาติแรกที่คิดเอาน้องตูบมาช่วยสงครามตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 โน่น โดยเริ่มจากเจ้าตูบพันธุ์ "เยอรมัน เชฟเพิร์ด" (German Shepherd Dog)หรือที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "อัลเซเชี่ยน" ซึ่งเดิมใช้ในการเลี้ยงแกะตามชื่อ และหลังจากนั้นเมื่อสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลง พวกฝรั่งชาติอื่นจึงทำการศึกษาและค้นคว้าทดลองกันยกใหญ่ จนทำให้เจ้าตูบเข้ามาเกี่ยวกับการรบ เกิดคำว่า "War Dog-น้องตูบสงคราม" เป็นเรื่องเป็นราวมาจนบัดนี้ ปัจจุบัน ทหารมีงานให้น้องตูบทำอยู่สามประเภทด้วยกัน ได้แก่ งานที่ 1 คือ งานรักษาความปลอดภัย ได้แก่ น้องตูบยาม น้องตูบสายตรวจ และน้องตูบอารักขา งานที่ 2 คือ งานสนับสนุนหน่วยงานทางยุทธวิธี ได้แก่ น้องตูบตรวจค้นทุ่นระเบิดและอุโมงค์ น้องตูบลาดตระเวน และน้องตูบสะกดรอยหรือน้องตูบเชอร์ล็อคโฮม งานที่ 3 คือ งานหน้าที่พิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง ได้แก่ น้องตูบตรวจค้นยาเสพติดให้โทษ น้องตูบตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิดและน้องตูบสลายมวลชน จนถึงปัจจุบัน นอกจากน้องตูบพันธุ์เยอรมัน เชฟเพิร์ดแล้ว ยังมีน้องตูบฝรั่งอีก 3 พันธุ์ที่โชคร้าย ถูกนำมาฝึกใช้เป็นน้องตูบสงคราม ซึ่งได้แก่ น้องตูบพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ -น้องตูบพันธุ์โดเบอร์แมน พินเชอร์ และ น้องตูบร็อตไวเลอร์ น้องตูบแต่ละพันธุ์ที่นำมาใช้ในกิจการทหารนั้น ต่างมีลักษณะเด่นและความเหมาะสมแตกต่างกันไป ลำดับแรกคือ น้องตูบพันธุ์เยอรมัน เชฟเพิร์ด เป็นน้องตูบที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกภารกิจ ฝรั่งจึงยกให้เป็น "ราชาแห่งตูบสงคราม" เพราะเจ้าของคือ เยอรมันได้พัฒนาสายพันธุ์มานมนาน จนสามารถสร้างลักษณะเด่นและลบลักษณะด้อยไปจนเกือบหมดสิ้น ที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ก็คือ น้องตูบพันธุ์นี้ มักเป็นโรคกระดูกข้อสะโพกห่างเท่านั้น ดูด้วยตาก็พอจะรู้สึกได้ เพราะขาหลังของน้องตูบพันธุ์นี้ดูจะไม่แข็งแรงเท่าใดนัก น้องตูบลาบราดอร์ รีทีฟเวอร์ มีลักษณะเด่นตรงจมูกไว สอดรู้สอดเห็น ชอบเดินดมกลิ่นตามพื้นดิน จึงสามารถนำมาใช้งานประเภทที่ต้องใช้ความสามารถของจมูกเป็นหลัก ได้แก่ การตรวจค้นทุ่นระเบิด กับระเบิด รวมทั้งค้นยาเสพติด เป็นต้น ส่วนน้องตูบพันธุ์ ร็อตไวเลอร์ กับ น้องตูบพันธุ์โดเบอร์แมน พินเชอร์นั้น นิสัยใจคอถนัดไปทางบู๊ล้างผลาญ เหมือนที่เคยเป็นข่าวเรื่องกัดเด็ก น้องตูบพันธุ์นี้ก็นำไปใช้เป็น น้องตูบยาม น้องตูบสายตรวจ และน้องตูบอารักขา กองทัพไทยเราก็มีการนำน้องตูบมาใช้งานอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน หลายท่านคงสงสัยว่า แล้วทหารไทยไม่คิดจะเอาน้องตูบพันธุ์ไทยมาใช้งานบ้างหรือ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง น้องตูบหลังอาน และน้องตูบบางแก้ว รวมทั้งน้องตูบพันทางที่ ตกงาน และ ด้อยโอกาสแล้วยังหาได้ง่าย ไม่ต้องเสียเงินทองไปซื้อหาจากต่างประเทศ คำตอบก็คือ น้องตูบพันธุ์ไทยนั้น สามารถนำมาใช้งานเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาหลักยังอยู่ตรงที่เราไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการใช้งานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นานๆทีจะฟลุ๊คเจอะน้องตูบประเภทช้างเผือกเสียครั้งหนึ่ง จึงยังเอาแน่ไม่ได้ ไม่เหมือนน้องตูบฝรั่งที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาช้านาน จนสามารถนำไปใช้งานได้ตามความมุ่งหมายต่างๆกันไปอย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว น้องตูบไทยเราแม้จะมีความเฉลียวฉลาดไม่น้อย แต่คุณสมบัติสำคัญที่ยังขาดหายไปก็คือ เรื่องของวินัย "การเชื่อฟังคำสั่ง" น้องตูบไทยยังรักอิสระทำให้ยากแก่การควบคุม ซึ่งย่อมเป็นปัญหาอย่างมากในการปฏิบัติงานในสนาม อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหากได้มีการค้นคว้าและพัฒนาสายพันธุ์กันอย่างจริงจังแล้ว สักวันหนึ่งทั้งน้องตูบบางแก้ว และน้องตูบหางดาบหลังอานคงได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารไทยอย่างแน่นอน พูดเรื่องไม่มีระเบียบวินัยทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองแล้ว ผมเห็นจะต้องหยุดไว้เพียงแค่นี้ ไม่อยากหาเรื่องใส่ตัว ว่าแต่ว่าเคยได้ยินคำพังเพย "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ " บ้างไหมเล่าครับ... เนื้อหาบทความมาจากหนังสือ คนรักหมา ของ เนชั่นบุ๊ค(Nation Books) แต่งโดย อ.บัญชร ชวาลศิลป์ (เนื้อหามีการดัดแปลงคำและประโยค) ปลาน้ำจืดไทย ป่าเขา-ทะเลไทย เที่ยวจัง!...ตังค์จะหมดแล้ว...