โรคเบาหวานในน้องตูบ
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่น้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติโดยที่กลไกปกติของร่างกายนั้นไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งกลไกปกติในร่างกายนั้นเกี่ยวข้องกับ ฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย และเมื่อไม่สามารถพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้ ก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติอื่นๆตามมาได้
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ ดังนี้
1-เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus : IDDM)เป็นชนิดที่พบได้มากในน้องหมา โดยตับอ่อนของน้องหมาที่เป็นเบาหวานชนิดนี้จะสร้างอินซูลินไม่ได้เลยหรือได้น้อยมาก คาดกันว่าเกิดจากร่างกายของน้องหมามีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อต้านทำลายเบต้าเซลล์ ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อนของตัวเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ร่วมกับการติดเชื้อหรือการได้รับสารพิษจากภายนอก น้องหมาที่ป่วยด้วยภาวะนี้นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนในร่างกายทุกวัน จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ มิเช่นนั้น ร่างกายจะเผาผลาญไขมันจนทำให้น้องหมาผอมอย่างรวดเร็ว และเกิดผลข้างเคียงตามมาในที่สุด
2-เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non-insulin dependent diabetes mellitus : NIDDM) เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าในน้องหมา ตับอ่อนของน้องหมาป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดนี้ยังสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่ทำงานไม่เป็นปกติเนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆถูกทำลายไป สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวมากหรือโรคอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย
พันธุ์ที่พบว่ามีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้บ่อย ได้แก่ พุดเดิ้ล, ดัชชุน, มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์, มินิเอเจอร์ พินเชอร์, คีชอนด์, บีเกิ้ล, เวสต์ ไฮแลนด์ เทอร์เรีย, ลาบราดอร์ และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ช่วงอายุที่มักพบโรคเบาหวานในน้องหมา คือ อายุ 7 ปีขึ้นไป ในน้องหมาที่อายุน้อยกว่านี้ก็มีโอกาสพบได้ แต่ไม่บ่อยนัก น้องหมาเพศเมียมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานมากกว่าเพศผู้เป็นสองเท่า น้องหมาที่อ้วนมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าน้องหมาที่มีน้ำหนักตัวปกติ และยังพบด้วยว่าน้องหมาที่เป็นเบาหวานหลายตัวอาจมีภาวะฮอร์โมนสเตียรอยด์สูงผิดปกติร่วมด้วยได้ค่ะ
ภาพจาก Internet
อาการและความผิดปกติที่ตรวจพบได้
อาการที่มักพบได้แก่ กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ กินอาหารเก่งขึ้น แต่น้ำหนักตัวลด ซึ่งโดยมากถ้าตรวจพบได้เร็วสุนัขอาจจะยังดูไม่ผอม โรคเบาหวานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ ต้อกระจก จอตาเสื่อม ตับโต ไตเสื่อมและอาจเกิดไตวายตามมาได้ อาจมีอาการทางประสาท น้องหมาที่เป็นโรคเบาหวานมักจะไวต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจจะเกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) เป็นภาวะที่มีการสะสมของสารคีโตนซึ่งเกิดจากการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ส่งผลให้น้องหมาจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำอย่างมาก หายใจหอบลึก และลมหายใจมีกลิ่นแปลกๆ อาจมีไข้ กระวนกระวาย มีภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจมีอาการเกร็งท้อง ท้องเสีย สุนัขจะซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจตายจากภาวะคีโตซิสนี้ได้ค่ะ
การรักษา
การฉีดอินซูลิน
อินซูลินที่ใช้ในการรักษาเบาหวานในน้องหมามีหลายชนิด ชนิดที่นิยมใช้ในการรักษาเบาหวานในกรณีที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อนมักจะเป็นอินซูลินชนิดที่ออกฤทธิ์นานปานกลาง ซึ่งในปัจจุบันมีอินซูลินที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับน้องหมาและน้องแมวที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะแล้วค่ะ สัตวแพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณอินซูลิน/จำนวนครั้งที่ฉีดในแต่ละวัน และให้เจ้าของไปฉีดให้น้องหมาเองทุกวันที่บ้าน โดยขนาดอินซูลินที่ใช้ในน้องหมาแต่ละตัวอาจไม่เท่ากันแม้ว่าจะมีน้ำหนักเท่ากัน เนื่องจากการเผาผลาญและการนำอินซูลินไปใช้ได้ในเซลล์ของน้องหมาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน การคำนวณปริมาณอินซูลินนั้นทำได้โดยโดยสัตวแพทย์จะทำการทดสอบ วัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก่อนและหลังฉีดอินซูลินในช่วงเวลาต่างๆของวัน (Blood glucose curve) เพื่อหาขนาดของอินซูลินที่เหมาะสมกับน้องหมาตัวนั้นๆ โดยมากคุณหมอมักจะนัดให้มาทำการตรวจนี้ซ้ำทุก 1-2 เดือนค่ะ
เจ้าของน้องหมาควรฉีดอินซูลินในเวลาเดิมของทุกวัน เวลาอาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย และควรสัมพันธ์กับมื้ออาหารที่ให้กินด้วย การเก็บรักษาฮอร์โมนอินซูลินนั้นควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิคงที่ โดยเก็บในช่องแช่เย็น ไม่ใช่ช่องแช่แข็งนะคะ และก่อนใช้ห้ามเขย่าขวดอินซูลินแรงเกินไป ให้แค่พลิกขวดไปมาเท่านั้น เนื่องจากอินซูลินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งโครงสร้างโมเลกุลสามารถเสียหายได้ถ้าได้รับแรงเขย่าหรือกระแทกมากเกินไป
ภาพจาก Internet
ยาลดน้ำตาลในเลือด
ยาลดน้ำตาลในเลือดโดยมากออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างอินซูลินจากเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน และเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน แต่พบว่ามักไม่ได้ผลดีกับการรักษาในสุนัขต่างกับในแมวและมนุษย์ จึงไม่นิยมใช้ในการรักษาเบาหวานในน้องหมาค่ะ
การควบคุมอาหาร
การให้เจ้าของควบคุมอาหารที่จะให้แก่น้องหมานั้น จัดเป็นการรักษาหลักที่ต้องทำในทุกรายที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าน้องหมาที่เป็นเบาหวานและสามารถควบคุมอาหารได้นั้น จะมีสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและมีอายุยืนยาวกว่าน้องหมาที่ไม่ได้ควบคุมอาหาร เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ ไม่แกว่งขึ้นลงมากไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน
ชนิดอาหารที่ให้ในน้องหมาที่เป็นเบาหวานนั้น จะแนะนำให้ทานอาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานโดยเฉพาะซึ่งจะมีขายตามคลีนิคและโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป เนื่องจากสะดวกในการให้และง่ายต่อการคำนวณปริมาณอาหารที่ต้องให้ในแต่ละวัน ส่วนอาหารที่ปรุงเองนั้นมีข้อดี คือ น่ากินกว่าอาหารสำเร็จรูปแต่ก็คำนวณปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวันได้ยากจึงมีข้อเสีย คือ ไม่สะดวกในการให้นัก ถ้าจำเป็นต้องให้อาหารปรุงเองควรเลือกวัตถุดิบในการทำอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่มีน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว น้ำตาลโมเลกุลคู่ หรืออาหารประเภทแป้งที่ย่อยสลายเป็นกลูโคสได้ง่าย เช่น น้ำตาลทราย ผลไม้ที่มีรสหวาน ข้าวสารขัดขาว เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงด้วยนะคะ
สัตวแพทย์จะเป็นผู้คำนวณปริมาณที่น้องหมาต้องทานในแต่ละวันให้เจ้าของ ควรแบ่งให้อาหาร 2-4 มื้อต่อวัน ทั้งนี้อาจขึ้นกับระดับการตอบสนองต่ออินซูลินของน้องหมาแต่ละตัว และควรให้อาหารในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่แกว่งขึ้นลงมากเกินไปหลังจากทานอาหารเสร็จ ไม่ควรให้ขนมหรืออาหารอื่นนอกจากอาหารควบคุมโรค ยกเว้นเป็นอาหารที่สัตวแพทย์แนะนำนะคะ
ในรายที่ไม่ยอมทานอาหารสำเร็จรูป เราก็มีตัวอย่างสูตรอาหารปรุงเองที่เหมาะสำหรับน้องหมาที่เป็นเบาหวาน โดยสูตรอาหารนี้จะใช้สำหรับน้องหมาที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 15 กิโลกรัมค่ะ
วัตถุดิบ |
ปริมาณ (กรัม) |
มันฝรั่งต้มทั้งเปลือก |
960 |
เนื้อไก่ |
300 |
ไข่ต้มเฉพาะไข่แดง (2 ฟอง) |
30 |
ผักต้ม (แครอท ฟักทอง กะหล่ำปลี) |
240 |
รำข้าวสาลี |
60 |
แคลเซียม คาร์บอเนต |
4 |
โพแทสเซียม คลอไรด์ |
2.5 |
อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ |
18 กรัม/วัน |
ที่มาสูตรอาหาร : อุตรา จามีกร, 2551. โภชนาการกับสัตว์เลี้ยง, วารสารสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์, ปีที่ 20 ฉบับที่ 4 หน้า 14-34.
ภาพจาก Internet
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายก็มีส่วนในการรักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจากช่วยลดความอ้วนและยังมีส่วนลดการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) อีกด้วย นอกจากนี้การออกกำลังกายยังมีส่วนในการทำให้อินซูลินไปเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น เพราะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย
ควรให้น้องหมาที่เป็นเบาหวานออกกำลังกายทุกวันเป็นประจำ และควรออกกำลังกายในเวลาเดิมทุกวัน ไม่ควรให้น้องหมาออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งถ้ามีอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำเจ้าของสามารถช่วยเหลือสัตว์เบื้องต้นได้โดยการป้อนอาหารที่เป็นแหล่งของน้ำตาล เช่น น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำหวาน ลูกอม เป็นต้น
การดูแลอื่นๆ
ควรสังเกตดูปริมาณ/สีของปัสสาวะ และการดื่มน้ำของน้องหมา ถ้ามีน้องหมาหลายตัว ระวังอย่าให้น้องหมาตัวที่เป็นเบาหวานไปกินอาหารของน้องหมาตัวอื่นๆ เพราะอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ควรพาน้องหมาไปตรวจวัดระดับกลูโคส และค่าเคมีต่างๆในเลือด พร้อมกับทำ blood glucose curve ตามที่สัตวแพทย์นัดอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ...
ปลาน้ำจืดไทย ป่าเขา-ทะเลไทย เที่ยวจัง!...ตังค์จะหมดแล้ว...
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
Internet
http://dogclub.in.th
|