ผลเสียของการฉีดยาคุมสำหรับน้องตูบ
ปกติแล้วการที่เจ้าของสุนัขต้องการจะคุมกำเนิดสัตว์โดยที่ยังไม่ต้องการจะผ่าตัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ยังไม่พร้อมในการดูแลสัตว์ป่วยหลังผ่าตัด หรือยังหวังการที่จะให้สุนัขสามารถผสมพันธุ์ในสัดคราวต่อๆไป ฯลฯ ซึ่งวิธีการที่เจ้าของสัตว์จะนึกถึงในการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวนี้ก็คือ การฉีดยาคุมกำเนิดโดยใช้ยา( Medroxyprogesterrone Acetate) หรือ MPA ฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งยาคุมนี้เป็นกลุ่มอนุพันธ์ของฮอร์โมนเพศ โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
แต่การฉีดควรแน่ใจว่าสัตว์อยู่ในระยะที่เรียกว่า (Anestrus) คือไม่แสดงอาการเป็นสัด อยู่ในช่วงพักของระบบฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน (Estrogen) โดยสังเกตุได้จากสุนัขปกติที่มีความสมบูรณ์ของร่างกายจะเป็นสัดทุก 5-8 เดือน อาจเร็วหรือช้าแล้วแต่สุนัขแต่ละตัว
ดังนั้นหลักควรจำง่ายๆแก่เจ้าของสุนัขคือ ต้องฉีดยาคุมในระยะที่สุนัขไม่เป็นสัด คือช่วงหลังจากเป็นสัดแล้ว 2 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 4 เดือน หลังจากเป็นสัด หรือหลังคลอดแต่ไม่ควรเกิน 4 เดือน หรือเริ่มฉีดเข็มแรกในช่วงที่สุนัขยังเด็กก่อนเริ่มเป็นสัดครั้งแรก คืออายุประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีการใช้กันอยู่บ้าง
|--Proestrus---|-----Estrus----|----Diestrus--|--Anestrus--|
|------9 วัน------|------9 วัน------|-----2 เดือน-----|----2 - 4 เดือน----|
<< ระยะเป็นสัด >>
มีบางกรณีที่เจ้าของสุนัขพอพบว่าสุนัขเริ่มมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ เริ่มเป็นสัดแล้วต้องการจะฉีดยาคุมนั้นเป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากยาคุมสามารถควบคุมการเป็นสัดได้ จากการกดการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ดั้งนั้นถ้าเจ้าของสุนัขเข้าใจผิดแล้วฉีดยาคุมให้สุนัขช่วงที่เริ่มต้นหรือกำลังเป็นสัดนั้น แน่นอนการคุมกำเนิดย่อมไม่ได้ผล สุนัขยังสามารถตั้งท้องได้ และยังมีผลเสียจากฤทธิ์ของยาคุม MPA ที่รุนแรงต่างมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการลดการเคลื่อนตัวและบีบตัวของมดลูกเพื่อขับเยี้อเมือกและสิ่งคัดหลั่ง รวมทั้งการจับเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่มดลูกจากการผสมพันธุ์
กรณีที่สุนัขผสมพันธุ์เกิดมีลูกขึ้นมา ยาคุมจะส่งผลต่อการคลอด คือไม่มีการกระตุ้นให้เกิดการคลอด ปากมดลูกปิดไม่เกิดการบีบตัวของมดลูกขับลูกออกมาเมื่อครบกำหนดคลอดทำให้เกิดภาวะตั้งท้องยาวนาน (Prolong pregnancy)ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการผ่าเอาลูกออก (Caecarrean section) ก็เป็นวิธีเดียวที่ต้องทำเพื่อรักษาชีวิตสุนัขไว้ บางครั้งพบว่าหลังการผ่าตัดเอาลูกออกทั้งแม่และลูกปลอดภัยดี แต่ก็พบบ้างว่าลูกตายและเน่าอยู่ในมดลูก (Maceration) ซึ่งอย่างนี้ก็คงต้องพิจารณาการทำหมันแม่สุนัขไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามการใช้ยาคุม ควรที่จะใช้เป็นการชั่วคราวเมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรฉีดเกิน 3 ครั้ง และอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์เสมอ ในสุนัขที่อายุมาก ถ้าไม่ต้องการให้สุนัขมีลูกอีกควรใช้วิธีการทำหมัน โดยการตัดมดลูกและรังไข่ออก (Overiohyterectomy : OVH) จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ปัญหาหนึ่งสำหรับเจ้าของน้องหมาที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็คือ กลัวน้องหมาจะมีลูก เพราะให้เลี้ยงหลายๆตัวก็คงไม่ไหว วันนี้ชุมชนคนรักสุนัขจึงนำข้อมูลเรื่อววิธีการต่างๆในการคุมกำเนิดน้องหมามาฝากกันค่ะ
เพศผู้
-
การผ่าตัดการผ่าตัดในน้องหมาเพศผู้จะต้องทำการวางยาสลบก่อน ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
-
การผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกไป (Castration)
วิธีการนี้ตัดเอาลูกอัณฑะทั้งสองข้างออกไปเลย เป็นการคุมกำเนิดที่ไม่สามารถกลับมาแก้หมันได้ ข้อดี คือ เป็นการคุมกำเนิดที่ได้ผล 100% สุนัขหลายตัวมีความก้าวร้าวลดลง และหมดอารมณ์ทางเพศ เนื่องจากลูกอัณฑะนั้นนอกจากสร้างตัวอสุจิแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศที่กระตุ้นให้สุนัขเพศผู้มีความก้าวร้าว ชอบกัดกัน ส่งผลให้นิสัยเรียบร้อยขึ้นแต่ก็ไม่ทุกตัวนะคะ เพราะความก้าวร้าวในน้องหมาบางตัวก็เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ในอนาคตได้ เช่น เนื้องอกที่ลูกอัณฑะ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ส่วนข้อเสียคือ น้องหมาที่ทำหมันมักจะมีนิสัยเฉื่อยชาลงและอ้วนง่ายขึ้น
-
การผ่าตัดผูกท่อนำน้ำเชื้อ (Vasectomy)
วิธีการนี้จะไม่ตัดเอาลูกอัณฑะออก แต่จะใช้วิธีผูกและตัดท่อนำน้ำเชื้อ ทำให้อสุจิที่ผลิตออกมาไม่สามารถผ่านลงไปยังอวัยวะเพศได้ ข้อดีก็ คือ ลูกอัณฑะยังคงอยู่ทำให้ยังมีแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชายยังมีเหมือนก่อนผ่าตัด ทำให้รูปร่างของสุนัขไม่เปลี่ยนไปอ้วนขึ้น สุนัขจะยังร่าเริงกระฉับกระเฉง ไม่เฉื่อยชา แต่ก็ทำให้มีข้อเสียคือ ปัญหาความก้าวร้าวจากฮอร์โมนเพศไม่ลดลง สุนัขจะยังพยายามขึ้นขี่สุนัขเพศเมียซึ่งอาจทำให้ติดโรคจากเพศสัมพันธุ์ได้ เช่น โรคเนื้องอกที่อวัยวะเพศบางชนิด (VG) และยังคงนิสัยปัสสาวะเพื่อบอกอาณาเขต มีโอกาสพบได้บ้างว่านอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์หลายโรคก็ยังมีโอกาสเกิดได้ ดังนั้นแล้วโดยมากสัตวแพทย์จะไม่นิยมแนะนำให้สุนัขผ่าตัดทำหมันด้วยวิธีการนี้ค่ะ
-
การฉีดยา
ถ้าใครยังพอจำข่าวได้ เมื่อประมาณปีที่แล้ว มีข่าวออกมาว่ามียาฉีดเข้าไปที่อัณฑะของสุนัขเพศผู้ ก็จะทำให้สุนัขเป็นหมัน ซึ่งหลักการของยาตัวนี้ก็คือ จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของอัณฑะทำให้ผลิตอสุจิไม่ได้ แต่ยังอาจมีการสร้างฮอร์โมนเพศและน้ำเชื้อบางส่วนได้อยู่บ้าง ข้อดีคือ สุนัขไม่จำเป็นต้องวางยาสลบ (แต่อาจต้องฉีดยาซึมบ้างในกรณีที่น้องหมาค่อนข้างดุและไม่ยอมให้จับง่ายๆ) ทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องมีการดูแลแผลหลังการผ่าตัด สุนัขไม่อ้วน ไม่เฉื่อย เพราะยังมีฮอร์โมนเพศอยู่ ส่วนข้อเสีย คือ ประสิทธิภาพของยานั้นไม่ 100% บางรายฉีดไปแล้วก็ยังไปผสมติดได้เนื่องจากเนื้อเยื่อบางส่วนอาจไม่โดนยาทำลาย ทำให้สามารถผลิตตัวอสุจิได้อยู่ ความก้าวร้าวจากฮอร์โมนเพศ, พฤติกรรมขึ้นขี่และการปัสสาวะเพื่อบอกอาณาเขตจะยังมีอยู่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เจ้าของโดยมากมักไม่อยากให้มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันยานี้ยังไม่ค่อยแพร่หลายในไทยนัก ตามคลีนิคและโรงพยาบาลสัตว์ยังไม่นิยมใช้ เนื่องจากโดยมากสุนัขที่มีเจ้าของเลี้ยงดูหลายท่านเอาน้องหมาเพศผู้มาให้ทำหมัน เพราะปัญหาพฤติกรรมมากกว่าค่ะ ส่วนตัวของผู้เขียนนั้นคิดว่ายานี้ เหมาะสำหรับใช้ในเคสควบคุมประชากรน้องหมาจรจัดที่ไม่มีเจ้าของมากกว่าค่ะ
เพศเมีย
1.การผ่าตัด
การผ่าตัดทำหมันในน้องหมาเพศเมียที่ถูกต้องนั้นจะเป็นการผ่าตัดเอารังไข่และมดลูกออกไป (Ovariohysterectomy) การผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือ ป้องกันการตั้งท้องได้ 100% การตัดเอารังไข่ที่ผลิตไข่และฮอร์โมนเพศออกไป ทำให้น้องหมาเพศเมียไม่กลับเข้าสู่วงจรการเป็นสัดอย่างถาวร (ไม่เป็นเมนส์อีกต่อไปนั่นเอง) ทำให้เจ้าของหลายท่านไม่ต้องกังวลว่าน้องหมาจะเป็นสัดอีกเมื่อไหร่ มีรายงานด้วยว่าน้องหมาที่ทำหมันแล้วมีโอกาสเกิดเนื้องอกเต้านมน้อยกว่าน้องหมาที่ยังไม่ทำหมันหลายเท่า เพราะพบว่าฮอร์โมนเพศมีผลให้เนื้องอกเต้านมบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี ส่วนการตัดเอามดลูกออกจะทำให้ลดโอกาสการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับมดลูกไปได้ เช่น โรคมดลูกอักเสบ เป็นต้น ส่วนข้อเสีย คือ หลังทำหมันน้องหมามักจะมีนิสัยเฉื่อยชาและมีแนวโน้มอ้วนง่ายขึ้น*** การผ่าตัดทำหมันเพศเมีย ถ้าทำแบบไม่ตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งคู่จะไม่แนะนำนะคะ เพราะถ้าตัดแต่รังไข่แต่ไม่ตัดมดลูกออก พบว่าหลายรายสามารถเป็นมดลูกอักเสบได้ ซึ่งการรักษาก็ต้องมาผ่าตัดเอามดลูกออกอยู่ดี ส่วนการตัดมดลูกแต่ไม่ตัดรังไข่ออกก็ไม่แนะนำ เพราะถ้ายังมีรังไข่อยู่น้องหมาจะยังเข้าสู่วงจรการเป็นสัดได้เหมือนตอนยังไม่ทำหมัน ทำให้น้องหมามีโอกาสโดนสุนัขเพศผู้ขึ้นขี่ได้ ซึ่งอาจทำให้น้องหมาติดโรคบางโรคจากการผสมพันธุ์ได้ เช่น โรคเนื้องอก VG โรคปากมดลูกอักเสบ เป็นต้น
1.การใช้ยาคุม
-
ยาคุมแบบฉีด ยาคุมกำเนิดแบบฉีดในบ้านเราปัจจุบันนั้นมี 2 แบบ คือ
-
(a) ยาคุมที่ใช้ฉีดก่อนผสม ใช้ฉีดกับน้องหมาก่อนเข้าวงจรการเป็นสัด (ก่อนเป็นเมนส์) ในท้องตลาดบ้านเรามี 2 ตัวยา ตัวแรกจะเป็นยา Medroxyprogesterone จะเป็นยาคุมแบบเดียวกับที่ใช้ในคนด้วย ซึ่งยาคุมตัวนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูก ฉีด 1 ครั้งคุมกำเนิดได้ประมาณ 6 เดือน แต่ข้อเสีย คือ พบว่าโอกาสโน้มนำให้เกิดโรคมดลูกอักเสบแบบเป็นหนองได้สูงกว่ายาตัวอื่นโดยเฉพาะในเคสที่ฉีดยาตัวนี้ผิดระยะ คือ มาฉีดในช่วงที่เริ่มเข้าวงจรหรือในช่วงที่เริ่มมีเมนส์แล้วนั่นเอง ส่วนยาคุมอีกตัว คือ Proligestone ยาตัวนี้จะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่ายาตัวแรกหลายเท่า แต่มีความปลอดภัยในการใช้สูงกว่า เพราะพบว่ามีโอกาสเกิดมดลูกอักเสบได้น้อยกว่า (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดมดลูกอักเสบเลยนะคะ) และสามารถฉีดได้ในช่วงแรกๆของการเป็นสัด ส่วนตัวของผู้เขียนจะไม่ค่อยแนะนำให้ฉีดยาคุม เพราะเคยเจอมาหลายเคสมากว่าเป็นมดลูกอักเสบหลังฉีดยาคุม แม้ว่าจะฉีดถูกระยะก็ตาม และในเคสที่แย่ที่สุดคือ เจ้าของบางท่านไม่รู้ว่าน้องหมาไปผสมมาและตั้งท้องอยู่ แล้วไปฉีดยาคุม ซึ่งจะทำให้ลูกสุนัขในท้องไม่เสียชีวิต แต่เมื่อถึงเวลาคลอด แม่สุนัขจะไม่เบ่งคลอด และทำให้เกิดลูกตายในท้อง ถ้าตรวจพบช้าเกินไปและผ่าตัดไม่ทัน ก็ทำให้น้องหมาตัวนั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
-
(b) ยาคุมแบบฉีดหลังจากผสมหรือยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน เป็นฮอร์โมนที่ใช้ฉีดหลังผสม เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนฝังตัว ใช้ในกรณีที่น้องหมาไปผสมมาแล้ว แต่เจ้าของไม่ต้องการให้มีลูก ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด อยู่ที่ประมาณ 80-90% โดยควรจะฉีดภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากโดนผสม เพราะถ้านานเกินกว่านี้อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ผลลดลง และห้ามปล่อยสุนัขให้ไปมีโอกาสผสมพันธุ์ในวงรอบครั้งนั้นได้อีก ยาคุมแบบนี้เองมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ได้แก่ กดไขกระดูก ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และยังอาจโน้มนำให้เกิดมดลูกอักเสบได้ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในการคุมกำเนิดค่ะ
ยาคุมแบบกิน ยาคุมแบบกินสำหรับสุนัขโดยเฉพาะนั้น ในเมืองไทยยังไม่มีบริษัทนำเข้ามาจำหน่ายค่ะ มี 2 ตัวยา ยาแรกคือ Mibolerone ลักษณะเป็นยาน้ำ โดยให้กินทุกวันประมาณ 30 วัน เริ่มกินก่อนน้องหมาเข้าสู่วงจรการเป็นสัด ซึ่งจุดนี้เป็นข้อเสียของยานี้ เพราะเป็นการยากที่จะกำหนดวันที่เริ่มให้กินยา เนื่องจากเจ้าของบางท่านก็ไม่ได้บันทึกวันที่เป็นสัดในครั้งก่อนๆไว้ และน้องหมาบางตัวอาจมีความคลาดเคลื่อนของวงรอบการเป็นสัดได้ ยาอีกตัว คือ Megaestrol acetate โดยเริ่มให้กินเมื่อสุนัขเริ่มเข้าวงจรการเป็นสัด ยาทั้งสองตัวนี้ก็มีผลข้างเคียงกับตัวสุนัขทั้งคู่ คือ เพิ่มโอกาสติดเชื้อในมดลูก อาจกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกเต้านม และอาจเป็นพิษต่อตับได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบนี้เท่าไหร่นัก
ในบ้านเรานั้น ผู้เขียนเคยเจอหลายครั้งเลยค่ะว่าเจ้าของบางท่านเอายาคุมแบบกินของคนป้อนสุนัข ซึ่งลักษณะและระยะเวลาของการเป็นสัดในน้องหมาต่างกับในคน การเอายาคุมของคนมาใช้ทำให้เราไม่สามารถบอกผลของการเอามาใช้คุมกำเนิดในสุนัขได้ และยาคุมกำเนิดเหล่านี้มักเป็นฮอร์โมนซึ่งมีผลต่อผนังมดลูก และอาจทำให้เกิดมดลูกอักเสบแบบติดเชื้อตามมาได้ค่ะ
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการคุมกำเนิดแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งเจ้าของต้องพิจารณาให้ดีๆ ในกรณีที่เราไม่ต้องการลูกสุนัขอยู่แล้ว แนะนำการผ่าตัดทำหมันไปเลยจะดีกว่า ส่วนในกรณีที่อยากให้สุนัขมีลูก แต่ในวงจรการเป็นสัดครั้งนี้ยังไม่สะดวกให้น้องหมาทำการผสมพันธุ์ อาจใช้วิธีแยกตัวผู้ตัวเมียออกจากกัน ถ้าไม่สามารถแยกได้จำเป็นต้องฉีดยาคุม ก็ให้เจ้าของรับทราบและสังเกตอาการข้างเคียงจากการฉีดยาคุมที่ได้กล้าวมาแล้วข้างต้นไว้ด้วยค่ะ
ปัจจุบันพบว่าเจ้าของสุนัขและแมวจำนวนไม่น้อยมักจะพาสัตว์เลี้ยง (เพศเมีย) ของตนมาพบสัตวแพทย์เพื่อให้ฉีดยาคุมกำเนิดเพราะคิดว่าการให้ยาคุมกำเนิดเป็นการจัดการที่ง่าย สะดวกและไม่ทำให้สัตว์เจ็บปวดมาก รวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกับการผ่าตัดทำหมัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีสิ่งสำคัญที่เจ้าของควรคำนึงถึงหลายประการดังนี้
1. ยาคุมกำเนิดจะให้ผลดีต้องฉีดในช่วงที่สุนัขและแมวไม่เป็นสัด
2. ถ้าสุนัข หรือแมว ได้รับการผสมก่อนฉีดยาคุม จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น คลอดยาก, ลูกตายในท้อง, มดลูกอักเสบ และอาจทำให้แม่สุนัขเสียชีวิตได้
3. ยาคุมกำเนิดมีส่วนประกอบคล้ายฮอร์โมน การฉีดยาคุมกำเนิด จะทำให้ระดับฮอร์โมนของร่างกาย ไม่สมดุล และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ขนร่วง, เป็นเบาหวาน, อยากอาหารเพิ่มขึ้น, กระหายน้ำมากขึ้น, ซึม หากใช้ติดต่อเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะโลหิตจาง เนื่องจากเกิดการกดการทำงานของไขกระดูกได้
4. ปัจจุบันนี้พบว่าการฉีดยาคุมกำเนิด อาจได้ผลนานประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งยังไม่มีรายงานยืนยันแน่นอน
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าการฉีดยาคุมกำเนิดส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของท่านมากมาย และถ้าแน่ใจว่าไม่ต้องการให้สุนัข และแมวของท่านมีลูก แนะนำว่าควรจะทำหมัน เนื่องจากให้ผลคุมกำเนิดได้แน่นอนกว่า และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทำหมัน 1 ครั้ง เทียบกับการฉีดยาคุมกำเนิดหลายๆครั้ง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากฉีดยาคุมกำเนิด ติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น อาจพบว่าการตัดสินใจทำหมันดีกว่า...
ปลาน้ำจืดไทย ป่าเขา-ทะเลไทย เที่ยวจัง!...ตังค์จะหมดแล้ว...
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
http://www.thaipom.com
http://dogclub.in.th
http://rayongvetclinic.wordpress.com
http://www.bloggang.com
http://www.bangkaew.com
|