เมื่อน้องตูบท้อง และวิวัฒนาการลูกน้องตูบในท้องแม่
สัปดาห์ที่ 1
พัฒนาการของลูกสุนัข
- เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่ (Ovum) ของแม่สุนัขกับตัวอสุจิของพ่อสุนัข
- ตัวอ่อนระยะเอ็มบริโอ (Embryo) แบ่งตัวเป็น 2 เซล บริเวณท่อนำไข่ (Oviduct)
- ในระยะนี้ตัวอ่อนมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกที่เข้ามากระทบต่อตัวแม่สุนัขได้ไม่มากนัก
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- ในสุนัขบางตัวอาจพบอาการแปลกๆที่ไม่เคยพบมาก่อนเราเรียกอาการนี้ว่า “อาการแพ้ท้อง”
การดูแลแม่สุนัข
- การให้อาหารแก่แม่สุนัขจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- สอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่ได้ให้แก่แม่สุนัขโดยเฉพาะยาต่างๆ ซึ่งอาจเกิดปัญหาแก่ลูกสุนัขในท้องได้
- ห้ามใช้ยากำจัดแมลงเช่น ยากำจัดเห็บหรือหมัดในช่วงเวลานี้
- ห้ามให้วัคซีนเชื้อเป็นแก่แม่สุนัขเด็ดขาด
สัปดาห์ที่ 2 (วันที่ 8-14)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- ต้นสัปดาห์ ตัวอ่อนระยะเอ็มบริโอจะแบ่งตัวเป็น 4 เซลและช่วงท้ายสัปดาห์พบว่าเอ็มบริโอแบ่งตัวถึง 64 เซล
- เอ็มบริโอเดินทางเข้ามาสู่มดลูก (uterus) ของแม่สุนัข
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- อาจพบอาการแพ้ท้องในสุนัขบางตัว
การดูแลแม่สุนัข
- ดูแลต่อเนื่องจากสัปดาห์แรก
สัปดาห์ที่ 3 (วันที่ 15-21)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- เกิดการฝังตัวของเอ็มบริโอบริเวณมดลูกของแม่สุนัขในวันที่ 19
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสัปดาห์ที่ก่อน
การดูแลแม่สุนัข
- ดูแลต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 2
สัปดาห์ที่ 4 (วันที่ 22-28)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- มีการเจริญของตาและไขสันหลัง ตัวอ่อนในระยะนี้เรียกว่า ฟีตัส (Fetus)
- ลักษณะของตัวอ่อนมองดูคล้ายก้อนอุจจาระ
- ฟีตัสมีขนาด 5-10 X 14-15 มม.
- เกิดขบวนการสร้างอวัยวะต่างๆในช่วงนี้หากมีผลกระทบที่มีต่อฟีตัสอาจทำให้เกิดความผิดปกติหรือความพิการได้
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- อาจพบสิ่งคัดหลั่งสีใสไหลออกมาจากช่องคลอด
- เต้านมเริ่มมีการพัฒนาขยายใหญ่ขึ้นในระยะนี้
การดูแลแม่สุนัข
- ตั้งแต่วันที่ 26 ขึ้นไป การคลำบริเวณช่องท้องของแม่สุนัขอาจจะทำนายผลการตั้งท้องว่าตั้งท้องหรือไม่ได้ หรืออาจให้สัตวแพทย์ยืนยัน
การตั้งท้องโดยใช้วิธีการอัลตร้าซาวด์ (ultrasound)
- ในระยะนี้ระมัดระวังการกระทบกระแทกอันเนื่องมาจากการกระโดด การวิ่งเป็นระยะทางไกลๆหรือการเล่นที่รุนแรง
- ควรเพิ่มเนยแข็ง (Cheese) หรือไข่ต้มสุกประมาณ 1/4 ถ้วย ในอาหารแม่สุนัขในแต่ละวัน
สัปดาห์ที่ 5 (วันที่ 29-35)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- ขบวนการสร้างอวัยวะ(Organogenesis) จะมีการสร้างจนมีอวัยวะครบในช่วงเวลานี้
- ลักษณะของฟีตัสมองดูคล้ายสุนัขมากขึ้นมีขนาด 18-30 มม.
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- พบการบวม-ขยายใหญ่บริเวณช่องท้องอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวจะเพิ่มสูงขึ้น
การดูแลแม่สุนัข
- เพิ่มจำนวนอาหารที่ให้ขึ้นเล็กน้อยและควรเปลี่ยนเป็นอาหารสูตรที่ใช้เลี้ยงลูกสุนัข
- หากให้อาหารวันละ 1 มื้อ ควรจะเพิ่มมื้อพิเศษให้อีก 1 มื้อ หากให้วันละ 2 มื้อ ควรเพิ่มจำนวนอาหารให้อีกเล็กน้อยในแต่ละมื้อ
- ในแต่ละวันควรให้วิตามินรวมเสริม
สัปดาห์ที่ 6 (วันที่ 36-42)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- ระยะนี้จะพบว่าเกิดการสร้างสีบริเวณผิวหนังขึ้น
- เมื่อใช้หูฟัง (stethoscope) ฟังเสียงหัวใจจะพบเสียงเต้นของหัวใจของฟีตัส
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- หัวนมมีการขยายใหญ่และมีสีคล้ำขึ้น
- ช่องท้องมีขนาดใหญ่ต่อเนื่องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การดูแลแม่สุนัข
- เพิ่มเนยแข็งหรือไข่ต้มสุกในอาหารแม่สุนัขทุกวัน
- เพิ่มจำนวนอาหารให้แก่แม่สุนัขในมื้อพิเศษ
- ฝึกให้แม่สุนัขอยู่ในบริเวณที่เตรียมไว้สำหรับการคลอด
สัปดาห์ที่ 7 (วันที่ 43-49)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- การเจริญเติบโตและพัฒนาการจะมีอย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- ขนบริเวณส่วนท้องจะเริ่มมีการหลุดร่วง
- แม่สุนัขจะเริ่มมองหาจุดที่จะทำการคลอด
การดูแลแม่สุนัข
- ในแม่สุนัขบางตัวควรระมัดระวังเรื่องการกระโดด
- เพิ่มจำนวนอาหารอีกเล็กน้อยให้ทั้ง 2 มื้อ
- พิจารณาการทำ X-ray เพื่อตรวจดูจำนวนและขนาดของลูกสุนัขในท้อง
สัปดาห์ที่ 8 (วันที่ 50-57)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- สามารถตรวจพบการเคลื่อนไหวของฟีตัสในขณะที่แม่สุนัขนอนพักได้
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- เมื่อบีบบริเวณหัวนมอาจพบว่ามีน้ำนมไหลออกมา
การดูแลแม่สุนัข
- ให้อาหารเพิ่มอีกในระหว่างมื้อปกติ
สัปดาห์ที่ 9 (วันที่ 58-65)
พัฒนาการของลูกสุนัข
- การเจริญเติบโตและพัฒนาการจะมีอย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงของแม่สุนัข
- พบพฤติกรรมการทำรังของแม่สุนัขให้เห็น
- อุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 100.2-100.8 ํF
- หากอุณหภูมิลดลงไปอยู่ที่ 98-99.4 ํF คาดการณ์ได้ว่าลูกสุนัขจะออกมาภายใน 24 ชั่วโมง
การดูแลสุนัขแรกเกิด
น้ำนมของแม่สุนัขในช่วง 2-3 วันแรก จะช่วยให้ลูกสุนัขมีภูมิคุ้มกันไปจนถึง 6-10 สัปดาห์แรก เราจะต้องเป็นคนคอยดูว่า ลูกสุนัขทุกตัวได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นเราจะต้องเริ่มให้ลูกสุนัขกินอาหารอ่อนๆ และค่อยๆ เริ่มให้ลูกสุนัขหย่านม ในลูกสุนัขแรกเกิด ตาของมันจะยังคงมองไม่เห็น และหูก็ยังคงไม่ได้ยิน จนกระทั่งอายุได้ประมาน 10-14 วัน และใช้เวลาอีก 7 วัน ในการปรับสายตาให้เรียบร้อย และหูก็เริ่มรับเสียงได้ เมื่อท่อฟังช่องหูเริ่มเปิดตอนลูกสุนัขอายุประมาณ 13-17 วัน
การนอนหลับพักผ่อน ในลุกสุนัขสามารถนอนหลับได้ทั้งวัน ลูกสุนัขจะนอนแล้วตื่นขึ้นมาดูดนมแม่ช่วงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นมันก็เริ่มมีกิจกรรมสำรวจสิ่งแวดล้อมในที่อยู่ของมันจนกระทั่งอายุ 12-14 สัปดาห์
ลูกสุนัขต้องการความอบอุ่น ลูกสุนัขขณะอยู่ในท้องแม่ของมันมีอุณหภูมิ 38.5 องศาเซสเซียส อุณหภูมินี้จะลดลงก่อนมันจะตกลูก ลูกสุนัขออกจากท้องแม่ใหม่ๆ จะหนาวสั่นง่าย ซึ่งถ้าเราไม่คอยดูแลก็อาจจะเกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นได้
อุณหภูมิในร่างกายของลูกสุนัขจะปรับตัวขึ้นลงตามสิ่งแวดล้อม หลังเกิดได้ 6-7 วัน ลูกสุนัขจะรู้จักวิธีการควบคุมระบบทำความร้อน แต่ก็ยังไม่ดีนัก จนกว่าจะอายุได้ 4 สัปดาห์ ในช่วง 2สัปดาห์แรก ถึงแม้ว่ามันจะนอนอยู่กับแม่ของมันและ ถ้าอยู่กับแม่ของมัน เราอาจต้องใช้ความร้อนเสริมไปนานกว่า 2 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมของมันควรอยู่ที่ 30 องศาเซสเซียส หรือลดลงได้อีก 3 องศาเซสเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำควรหาไฟหรือถุงน้ำร้อนวางให้ลูกสุนัขนอนทับแต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสุนัขรับความร้อนโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนัง
เป็นอันตรายได้
การสังเกตลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรง ลูกสุนัขที่แข็งแรงจะมีขนที่มันเงางาม และเวลาเราอุ้มมันขึ้นมาจะกระดุ๊กกระดิ๊ก ขณะที่ลูกนุนัขที่ไม่แข็งแรง
และขาแขนจะไม่แข็งแรง ลูกสุนัขที่แข็งแรงจะทำเสียงร้องเบาๆ และจะโหยหวนถ้าหิว ลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรงจะคลานไปมาและส่งเสียง
หมดแรงแบบเบาๆ และก็จะกลับไปนอนหมดสติที่ที่นอนของมัน
การให้อาหารและการหย่านม ลูกสุนัขจะกินนมแม่ไปจนราว 3-5 สัปดาห์ ในระยะนี้เราเริ่มให้นมอย่างอื่นแก่ลูกสุนัข เอาใส่จานให้เขาเลียได้แล้ว วิธีการหย่านมในลูกสุนัขก็คือ เอาอาหารเด็กมาผสมกับนมและค่อยจับใส่ปากลูกสุนัข เมื่อเริ่มทำสักวันสองวัน โดยใช้มือเราแล้วค่อยๆ เปลี่ยนมาใส่จาน วันละ 2 ครั้ง และเริ่มต้นให้เนื้อเสริมด้วยแคลเซียมเม็ดหรือกระดูกอ่อน
อาหารลูกสุนัขแบบกระป๋องจะช่วยได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะอาหารกระป๋องลูกสุนัขสามารถกินได้ง่ายโดยให้แต่น้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่อน้ำนมแม่เริ่มหมดไปจะต้องให้อาหารลูกสุนัขด้วยตัวของเราเองเพิ่มขึ้นๆ ลูกสุนัขจะต้องกินอาหารบ่อยเช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ เพื่อความเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ถ้าแม่สุนัขยังมีน้ำนมเพียงพอเราก็ไม่ต้องเสริม ให้ มาเริ่มราวสัปดาห์ที่ 5 ก็ได้ ในระยะเวลา 7-12 สัปดาห์ ควรให้อาหารกระป๋องสำหรับสุนัข และนมอย่างน้อยที่สุดวันละ 4 ครั้ง พอลูกสุนัขอายุได้ 12 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะกินน้อยลงเอง ก็ไม่จำเป็นต้องให้นม
การตัดหาง
สุนัขบางพันธุ์นิยมตัดหาง ให้เหลือความยาวตามลักษณะในพันธุ์นั้นนิยม ซึ่งก็ควรตัดในขณะที่ยังมีอายยังน้อยๆอยู่เพื่อที่จะไม่มีเลือดออกมามาก สุนัขไม่เจ็บปวด แผลหายเร็วและทำได้ง่ายโดยไม่ต้องวางยาสลบ ฉะนั้นสุนัขพันธุ์ที่ต้องตัดหางหลังคลอด ควรนำลูกสุนัขไปทำการตัดหางภาายในหนึ่งสัปดาห์หากจะตัดหางเอง ต้องทำในระยะไม่เกิน 7 วันหลังคลอด โดยการบูรป่าลิบขนบริเวณหางที่ต้องการตัดออกให้ถึงผิวหนัง แล้วทำความสะอาดด้วยการใช้แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน ทาให้ทั่ว ต่อจากนั้นก็รูดผิวหนังขึ้นมาทางโคนหาง แล้วใช้เชือกหรือยางรัดไว้ให้แน่นตรงข้อที่ 2 ของกระดูกโคนหาง ใช้กรรไกรที่ฆ่าเชื้อแล้วตัดตรงระหว่างข้อของกระดูกที่จะตัด แล้วแต้มด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน ทิ้งไว้ 4-5 ชั่วโมง จึงค่อยเอาเชือกหรือยางรัดออกปล่อยให้แผลหาย โดยมากผิวหนังของหางที่รูดขึ้นไป
ก็จะรูดลงมาเอง หรืออาจจะเย็บปิดก็ได้ถ้าต้องการ
การตัดหู
สุนัขบางพันธุ์นิยมตัดหู เช่น บ็อกเซอร์, โดเบอร์แมน, มินิเจอร์ พินเซอร์ และเกรท เดน ซึ่งก็ควรทำการตัดหู เมื่อลูกสุนัขอายุระหว่าง 12-14 สัปดาห์ เพราะขนาดโตพอที่จะทำการผาตัดได้ง่าย ทนต่อการวางยาสลบ หลังจากตัดแล้วหมอจะต้องดามหูไว้จนกว่าหูจะตั้งตรง ตามต้องการ ซึ่งกินเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ระหว่างนี้เจ้าของจะต้องคอยดูและอยู่ให้สุนัขเกาแผลจนไไหมที่เย็บหลุด หรือแผลสกปรก เพราะจะทำให้รูปทรงของหูไม่เป็นไปตามต้องการ
การให้นมลูกสุนัข และการเลือกซื้อขวดนม
ตามธรรมดาแล้วลูกสัตว์แรกเกิดจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากแม่หมาหรือแม่แมวตามสัญชาตญาณ เช่น แม่สัตว์เลือกพื้นที่ที่ปลอดภัย สะอาดและอบอุ่นจากนั้นเค้าจะให้นมแก่ลูกน้อย กรณีที่มีปัญหา คือ ตัวแม่ไม่เลี้ยงลูก ไม่ยอมให้ลูกดูดนม ไม่สนใจไยดี ไม่เลียทำความสะอาดให้ บางตัวออกจะรังเกียจละคอยหลบหลีกลูกน้อยของตัวเองเสียด้วยซ้ำ ทำให้เจ้าตัวน้อยไม่ได้กินนม อีกกรณีที่มีปัญหา คือ ตัวแม่ไม่มีน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกเพราะลูกดกเกินไป หรือร่างกายผลิตน้ำนมมาไม่ทันพอเพียง เราจึงต้องรับหน้าที่เป็นแม่จำเป็นแล้วด้วยการให้นมทดแทนต้องชงนมและป้อนให้ลูกสัตว์แทน และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือ ขวดนมลูกสัตว์ เพราะการให้นมด้วยการใช้ช้อนป้อนหรือให้ผ่านหลอดดูดยาโดยบีบใส่ปากลูกสัตว์ ย่อมมีโอกาสทำให้เกิดการสำลักได้ง่าย เพราะเราเป็นผู้ป้อนและกำหนดจังหวะการกิน ขณะที่พฤติกรรมตามธรรมชาติของลูกสัตว์ คือเค้าเป็นผู้กระทำโดยเอาปากซุกเข้าหาสิ่งที่นิ่มๆอุ่นๆ และเมื่อพบจะเริ่มทำการดูดทันทีขวดนมจึงจำเป็นมากเพราะการดูดนม
ของลูกสัตว์มีความสัมพันธ์กับการหายใจและการกลืนซึ่งสัตว์จะต้องฝึกและบังคับให้สอดคล้องกับจังหวะการหายใจและการกลืนของเค้าเองอย่างพอดี จึงแตกต่างจากการป้อนซึ่งมักป้อนให้ลูกสัตว์ได้รับนมมากเกินไป จนทำให้เค้าหายใจไม่ทัน กลืนไม่ทันและมีอาการสำลักตามมา ตามปรกติขวดนมสำหรับลูกสัตว์มีความจุประมาณ 50 ซีซี. ซึ่งเป็นขนาดความจุที่เหมาะสมและเอื้อให้เราชงนมไม่เปลืองมาก ในชุดขวดนมหนึ่งชุดมีจุกนมมาให้สองอันเผื่อเอาไว้ใช้สลับกันเมื่อต้องนำอีกอันหนึ่งมาล้างทำความสะอาด นอกจากนี้ยังมีแปรงทำความสะอาดขวดนมติดมาด้วย ซึ่งมีขนาดเล็กพอเหมาะกับขนาดของขวด การชงนม ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน ควรชงให้ในปริมาณที่พอดีกับจำนวนลูกหมา ไม่ควรชงทิ้งไว้ครั้งละมากๆ เพราะถ้าเก็บไว้นานๆและไม่ได้ถนอมอย่างถูกวิธีโดยเฉพาะภูมิอากาศแบบบ้านเรา ย่อมเป็นปัจจัยให้นมบูดได้ง่าย
ข้อควรตระหนักหลังการใช้ขวดนม คือ การล้างทำความสะอาด ถ้าไม่ชำระล้างให้ดี ย่อมมีสิ่งสกปรกตกค้างในขวดนม ส่งผลให้น้ำนมมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ทำให้ลูกสัตว์ท้องเสียได้ง่ายๆ อาจถ่ายท้องจนเสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก และเสียชีวิตได้ในที่สุด การหาซื้อขวดนมลูกสัตว์ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ หรือที่doctorpetshop ราคาไม่แพง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ควรมีติดบ้านไว้สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะในบ้านที่มีแม่สัตว์ตั้งท้องและจะออกลูกให้เป็นตัวแทนความรักและความผูกพันของเราและสัตว์เลี้ยง
การทำหมัน
เป็นที่ทราบกันดีว่าวิธีการคุมกำเนิดสุนัขอย่างถาวรที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดทำหมัน (Neutering) และอาจเป็นเพราะว่าเราคุ้นเคยกับคำว่า “ทำหมัน”กันมานานจนทุกวันนี้ดูเหมือนว่าการพาสุนัขไปทำหมันที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างไรก็ตามมีข้อควรรู้บางอย่างที่เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึง
1. การทำหมันที่ถูกต้องและเหมาะสมคือการตัดรังไข่และมดลูกออกทั้งสองข้างในสัตว์เพศเมีย และตัดอัณฑะรวมถึงท่อนำอสุจิออกทั้งสองข้างในสัตว์เพศผู้ ซึ่งวิธีและขั้นตอนการผ่าตัดอาจต่างกันเล็กน้อยในสุนัขและแมว
2. การผ่าตัดจำเป็นต้องมีการวางยาสลบ ดังนั้นสุนัขหรือแมวที่จะรับการผ่าตัดทำหมันต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายว่าแข็งแรงดี จากนั้นสัตวแพทย์จะทำการนัดวันผ่าตัด ซึ่งเจ้าตูบและน้องเหมียวจะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
3. การดูแลแผลหลังผ่าตัดเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขและแมวเพศเมีย เนื่องจากการตัดรังไข่และมดลูกออกจะต้องมีการเปิดผ่าช่องท้องซึ่งนับได้ว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ เจ้าของสัตว์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพาสุนัขไปรับการทำแผลทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน สัตวแพทย์อาจให้ยาลดปวดหลังผ่าตัดในระยะนี้เพื่อทำให้สัตว์สบายขึ้น ไม่ควรปล่อยสัตว์ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านเนื่องจากแผลอาจมีการติดเชื้อและเกิดแผลแตกตามมา
4. ถ้าแผลดีและไม่มีปัญหาแทรกซ้อน หมอจะนัดตัดไหมประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด การทิ้งไหมผ่าตัดไว้นานเกินไป จะทำให้ไหมบาดแผลเกิดการอักเสบของแผลตามมาได้
อายุเท่าไรจึงทำหมันได้
เคยมีความเชื่อว่าต้องรอให้สัตว์เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่เสียก่อนจึงทำหมันได้ คืออายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือสุนัขและแมวเพศเมียผ่านการแสดงอาการเป็นสัดไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ในปัจจุบันได้มีการศึกษารายงานแล้วว่าสามารถทำหมันสุนัขและแมวได้ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะเป็นข้อดีในกรณีที่ต้องการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยง เพราะถ้ารอจนสัตว์แสดงอาการเป็นสัดไปแล้ว สัตว์อาจบังเอิญได้รับการผสมและตั้งท้องคลอดลูกออกมาเป็นภาระให้เจ้าของได้ โดยเฉพาะแมวเพศเมียบางตัวอาจแสดงอาการการเป็นสัดที่ไม่ชัดเจนซึ่งจะสังเกตได้ยาก ส่วนกรณีสุนัขและแมวที่เลี้ยงตัวเดียวในบ้านและเจ้าของสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี อาจพิจารณาทำหมันเมื่อสัตว์โตเต็มที่แล้ว
ผลดีจากการทำหมัน
นอกจากการผ่าตัดทำหมันจะเป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ให้ผลดีที่สุดแล้ว ยังเป็นการลดโอกาสการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้อีกด้วย โดยเฉพาะเนื้องอกเต้านมในสุนัขและแมว อุบัติการณ์ลดลงได้ถึงเกือบ 100% หากมีการทำหมันก่อนสัตว์แสดงอาการเป็นสัดครั้งแรก นอกจากนี้โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hypertrophy; BPH) ในสุนัขเพศผู้ก็ลดลงอย่างมากเช่นกันหลังทำหมัน การตัดรังไข่ มดลูก และอัณฑะออกจะเป็นการกำจัดโอกาสการเกิดความผิดปกติและเนื้องอกของอวัยวะเหล่านี้ออกไปอย่างถาวรอีกด้วย
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังทำหมัน
ที่เห็นได้ชัดคือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องจากฮอร์โมนเพศจะลดลงมาก การผ่าตัดทำหมันเป็นการตัดเอาแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศที่สำคัญออก ดังนั้นพฤติกรรมการขึ้นขี่ (Mounting) ชอบหนีเที่ยว ติดสัตว์เพศเมีย หรือการยกขาปัสสาวะเพื่อบอกขอบเขตอาณาบริเวณความเป็นเจ้าของ (Urine Spraying and Marking) จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสุนัขและแมวเพศผู้ พฤติกรรมก้าวร้าว ดุหรือกัดสัตว์ตัวอื่นหรือสมาชิกของบ้านจะลดลงแต่ไม่มีผลกับความก้าวร้าวต่อคนแปลกหน้า ดังนั้นสุนัขที่เลี้ยงไว้เฝ้าบ้านก็ยังคงเห่า หรือขู่คนแปลกหน้าได้เหมือนเดิม นอกจากนั้นความซุกซน ชอบเล่น และการเห่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดหลังทำหมัน
ความอ้วนกับการทำหมัน
นอกจากสายพันธุ์ เพศ อายุ และอาหารการกินจะเป็นปัจจัยของโรคอ้วนในสุนัขและแมวแล้ว ผลการศึกษาหลายฉบับรายงานยืนยันว่าการทำหมันก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สุนัขและแมวมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่ม (Overweight) และเป็นโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการเผาผลาญพลังงานที่ลดลง ความอยากอาหารมากขึ้นโดยในเฉพาะสุนัขเพศเมีย นอกจากนี้สัตว์ที่เป็นโรคอ้วนยังมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ชนิด Hypothyroidism และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าและเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ดังนั้นภายหลังการทำหมัน เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึงเรื่องของอาหารและการออกกำลังกายของสัตว์ด้วย อาจค่อยๆมีการปรับเปลี่ยนอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย อาหารสำเร็จรูปเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการคุมน้ำหนักที่ดีเนื่องจากเจ้าของจะทราบปริมาณแน่นอนที่ให้สัตว์กิน ในปัจจุบันมีอาหารสุนัขและแมวสำเร็จรูปชนิดที่ให้พลังงานต่ำ (Light Formula) และเฉพาะสำหรับสัตว์ที่ทำหมันจำหน่าย โดยอาหารดังกล่าวจะมีสูตรอาหารที่ให้พลังงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารของสุนัขก่อนทำหมัน มีการเพิ่มกากใยมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเติมสารที่เร่งการเผาผลาญไขมัน (Fat Burner) เช่น L-Carnitine ซึ่งเหมือนกับอาหารลดน้ำหนักของคน
ภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน (Urinary Incontinence)
การเก็บข้อมูลในต่างประเทศรายงานโอกาสการเกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดที่เพิ่มสูงขึ้นในสุนัขกลุ่มที่ได้รับการทำหมัน ซึ่งพบได้มากในสุนัขเพศเมีย (4-20%) โดยสุนัขจะมีปัสสาวะไหลออกมาเองเมื่อนอนหลับหรือนอนตะแคง ปัญหาสุขภาพต่างๆที่อาจพบตามมาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Post-Menopausal Women) สุนัขเพศเมียที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้มีแนวโน้มที่การควบคุมปัสสาวะจะทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ และเมื่อร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน สายพันธุ์ และขนาดตัว สุนัขส่วนหนึ่งก็จะแสดงอาการปัสสาวะเล็ด อย่างไรก็ตามการรักษาทางยาสามารถลดอาการได้ดี
ถึงแม้การทำหมันอาจจะมีผลเสียอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังผ่าตัดแต่ก็ไม่ได้มีอุบัติการณ์ของโรคที่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามการทำหมันก็มีผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆดังกล่าวข้างต้นและมีประสิทธิภาพอย่างสูงในแง่ของการคุมกำเนิด เนื่องจากปัญหาการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของสุนัขและแมวจรจัดในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การรณรงค์ให้เจ้าของสุนัขและแมวนำสัตว์ไปรับการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธียังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำ สิ่งต่างๆเหล่านี้สัตวแพทย์ยินดีที่จะให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมเป็นกรณีไป...
ปลาน้ำจืดไทย ป่าเขา-ทะเลไทย เที่ยวจัง!...ตังค์จะหมดแล้ว...
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
http://www.bloggang.com
http://www.dogdodee.bizdsign.com
|