ภาวะการเกิดโรคหัวใจ พิการแต่กำเนิดในลูกสุนัข หน่วยอายุรกรรมโรคหัวใจ สัตวแพทย์ 4 โพลีคลินิก สวัสดี ผู้อ่านสื่อรักสัตว์เลี้ยงทุกท่านครับ ตอนนี้ก็ใกล้เข้าช่วงฤดูหนาวแล้วนะครับ ไม่รู้ว่าอากาศจะแปรปรวนแค่ไหน เดี๋ยวก็ร้อนมาก มีฝนตก แต่ก็ไม่หนาวเท่าไร แม้โลกเราจะร้อนขึ้นทุกวัน ยังไงก็ช่วยๆกันนะครับ อากาศแปรปรวนแบบนี้ต้องดูแลสุขภาพตัวท่านและอย่าลืมดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง กันด้วยนะครับ |
ช่วงใกล้เข้าหน้าเทศกาลปีใหม่นี้ ของขวัญที่เรามักซื้อให้กับคนที่เรารักคงมีหลายอย่างนะครับ เช่นบางท่านคงเคยซื้อลูกสุนัขหรือลูกแมวให้เป็นของขวัญแก่กัน หรือบางท่านมีลูกสัตว์คลอดที่บ้านก็เอามาให้กันแทนของขวัญก็คงจะมี แต่ต้องดูก่อนว่าคนรับพร้อมที่จะเลี้ยงหรือไม่ เพราะคนที่ไม่พร้อมอย่าไปให้เลยนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นการทารุณสัตว์ไปเปล่าๆ ทีนี้คนที่เคยไปเลือกซื้อลูกสัตว์ตามร้านขายสัตว์หรือคนที่เพาะพันธุ์สุนัข คงพอจะเคยทราบเรื่องโรคต่างๆที่เกิดกับลูกสัตว์กันมาบ้างนะครับ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคไข้หัด โรคลำไส้อักเสบ แต่มีบางโรคที่เราเห็นอาการไม่ชัด แต่เลี้ยงเท่าไรก็ไม่ยอมโต เราจะทำยังไงกันดี |
ภาพตัวอย่าง สุนัขที่อายุเท่ากันแต่มีปัญหาการเจริญเติบโต
|
เกิดคำถามว่า ทำไมลูกสัตว์ที่เราเลือกซื้อจะมีปัญหาหรือเปล่า โดยเฉพาะคนที่เพาะพันธุ์สัตว์ คงเคยเห็นว่า ทำไมลูกตัวนี้ในครอก ถึงได้ตัวเล็กและขี้โรคกว่าตัวอื่น ดังนั้น ที่จะเล่าวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง แต่คงจะไม่รู้ว่า มันมีจริงๆด้วยหรอ หรือไม่ก็คิดว่ามีจริง แต่มันจะเกิดกับลูกสัตว์ของเราหรือ นั่นคือ โรคความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ( Congenital Heart Disease )
มีเจ้าของสัตว์หลายคนพาสุนัขมาตรวจด้วยความแปลกใจว่า ทำไมสุนัขของเขาถึงตัวไม่โตซักที หรือบางทีสัตวแพทย์ที่ตรวจก็ถามอย่างสงสัยว่า ทำไมตัวเล็กจัง อายุ 6 เดือน แต่ขนาดพอๆกับอายุ 2 เดือน เจ้าของบางคนตอบด้วยความเข้าใจเบื้องต้นว่า ตัวนี้เล็กกว่าปกติ เลยอยากเลี้ยง เพราะจะได้ไม่โตมากไปกว่านี้ กลายเป็นอย่างนั้นไป แต่พอมาตรวจกับสัตวแพทย์กลับกลายเป็นโรคความผิดปกติของหัวใจมาแต่กำเนิดไปซะ นั่น |
ภาพ แสดงหัวใจที่มีปัญหาที่ลิ้นหัวใจห้องล่างซ้ายออกไปยังร่างกายส่วนต่างๆ |
ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สุนัขที่เราเลี้ยงนั้น จะมีปัญหาโรคหัวใจมาแต่กำเนิดหรือไม่ คำตอบก็คือ อาจพบว่า ลูกสุนัขมีขนาดตัวที่เล็กกว่าปกติ ดูเหงาหงอย เซื่องซึม มีอาการไอมากกว่าปกติ หรือมีอาการเป็นลมขณะวิ่งเล่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แต่โดยมาก มักไม่แสดงอาการให้เห็นในขณะนั้น หรือ มีแต่คนขายไม่ยอมบอกข้อมูลเหล่านี้ ก็คงไม่มีโอกาสรู้ จนกว่าจะได้เค้ากลับมาถึงบ้านและสังเกตุอาการแล้วนั่นแหละ
ลูกสุนัขที่พามาพบสัตวแพทย์ มักมาด้วยอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น สัตวแพทย์มักจะตรวจร่างกายทั่วๆไป สิ่งสำคัญที่มักจะตรวจพบจากการฟังคือ การได้ยินเสียงการเต้นผิดปกติของหัวใจ เรียกว่า เสียง murmur (แม้ว่าอาจฟังพบเสียงเบาๆนี้ได้ในสุนัขปกติ ซึ่งมักจะหายไปเองเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน )
แต่ในรายที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด มักจะได้ยินเสียงดังกล่าวชัดเจน สัตวแพทย์จะต้องแนะนำให้ตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม เช่น การฉายรังสีช่องอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลสัตว์ไม่กี่แห่งบริการ ( ลองสอบถามสถานที่ก่อนพาสัตว์ไปตรวจ ) เพราะควรมีบุคคลากรและเครื่องมือการตรวจที่มีประสิทธิภาพและมีประสบการณ์ ด้านโรคหัวใจ โดยเฉพาะขนาดของอุปกรณ์คือ หัวตรวจอัลตราซาวนด์ต้องมีขนาดเล็กมาก และหัวใจของลูกสัตว์ก็มีขนาดเล็กอยู่แล้ว หากเป็นพันธุ์เล็ก ที่ตัวเล็กกว่าปกติ แค่คิดก็เหงื่อตกแล้วครับ
เหตุผลที่การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ( Echocardiogram ) สำคัญ เพราะความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดนั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งต้องอาศัยการอัลตราซาวนด์หัวใจ เท่านั้นในการวินิจฉัย จึงจะทราบได้ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ |
ในเบื้องต้นเราแบ่งสภาพของตัวสัตว์ออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ ความผิดปกติของเส้นเลือดนอกหัวใจ ในตอนที่สัตว์ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ จะมีเส้นเลือดเชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ และเส้นเลือดดำใหญ่ เมื่อสัตว์โตขึ้น เส้นเลือดที่เชื่อมนี้จะหายไป ในรายผิดปกติหลอดเลือดดังกล่าวกลับไม่หายไป เกิดเป็นเลือดปนกันระหว่างเลือดดำและเลือดแดง ทำให้สัตว์อ่อนแรงกว่าปกติ เพราะออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอนั่นเอง ความผิดปกติแบบนี้ เรียกว่า patent ductus arteriosus (PDA)
การแก้ไขโดย การผ่าตัดแต่ความเสี่ยงก็ค่อนข้างสูงมากเลยทีเดียว อีกชนิดในกลุ่มนี้คือ ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงใหญ่อีกเส้นหนึ่งซึ่งควรจะหายไปเมื่อสัตว์โตขึ้น ตามปกติ แต่เส้นเลือดนี้ถ้ายังคงอยู่ และไปรัดบริเวณของหลอดอาหาร ทำให้สัตว์ไม่สามารถทานอาหารได้เป็นปกติ มักจะมีการสำรอกออกมาตลอด ต้องกินแต่อาหารเหลว เรียกความผิดปกติแบบนี้ว่า Vascular ring anomaly หรือPersistent right aortic arch ซึ่งสามารถผ่าตัดแก้ไขได้เช่นกัน แต่การหายขึ้นกับความเสียหายของหลอดอาหารด้วยเช่นกัน
|
กลุ่มที่ 2 คือ ความผิดปกติของการบีบเลือดออกจากหัวใจ มีทั้ง 2 ฝั่งคือ ความผิดปกติของการบีบเลือดออกจากหัวใจห้องล่างขวาคือมีการตีบของลิ้นหัวใจ ที่ห้องล่างขวาออกไปยังปอด (Pulmonic Stenosis)ทำให้หัวใจมีขนาดใหญ่จากแรงดันที่มากเกินไป และเลือดออกจากหัวใจไม่พอ และ อีกแบบคือ การตีบของลิ้นหัวใจห้องล่างซ้าย (Aortic stenosis)ที่จะออกไปยังร่างกาย ทำให้เกิดแรงดันมาก หัวใจขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ต้องใช้การผ่าตัดหัวใจเท่านั้น ซึ่งทำได้ยาก ความเสี่ยงสูงและต้องมีอุปกรณ์ที่ครบครันเท่านั้น ซึ่งหากผ่าตัดไม่ได้ก็คงได้แค่บรรเทาอาการเท่านั้นโดยการรักษาทางยาเท่านั้น
|
กลุ่มที่ 3 การเชื่อมกันของหัวใจในแต่ละห้อง นั่นคือ ปกติหัวใจแต่ละห้องต้องมีผนังกั้นแยกกัน ไม่มีการเชื่อมกัน แต่สัตว์ในกลุ่มนี้ จะมีความผิดปกติของผนังกั้น ทำให้เลือดจากหัวใจในแต่ละห้องมาผสมกัน ความผิดปกติที่พบในกลุ่มนี้คือ ผนังหัวใจห้องล่างหายไป ไม่มีการแบ่งกัน หรือ Ventricular Septal Defect ทำให้เลือดที่ออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายที่จะไปยังร่างกาย มีแรงดันมากกว่าก็จะแทรกเข้าไปในหัวใจห้องล่างขวา เลือดที่ออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปยังร่างกายก็จะมีปริมาณไม่พอ เพราะออกไปทางห้องล่างขวาหมด หรืออาจพบความผิดปกติที่หัวใจห้องบน (Atrial septal defect) และ แบบสุดท้ายคือ Tetralogy of Fallot ซึ่งเกิดความผิดปกติถึง 4 อย่างคือ หัวใจห้องล่างขวาโต เส้นเลือดแดงใหญ่ที่ปกติจะอยู่หัวใจห้องล่างซ้ายเกิดการคร่อมมายังเส้นเลือด หัวใจห้องล่างขวา ผนังหัวใจห้องล่างหายไป และ การตีบของลิ้นหัวใจจากห้องล่างขวาไปยังปอด ซึ่งการเกิด 4 อย่างนี้พร้อมกันคงเกิดขึ้นได้ยาก และการแก้ไขในปัจจุบันก็ทำได้ยากมากเลยทีเดียว
การแก้ไข โดยการนำแผ่นที่สังเคราะห์ ( Synthetic membrane ) มาปิดที่บริเวณรูที่เชื่อม และต้องอาศัยอุปกรณ์และความชำนาญของสัตวแพทย์สูงมาก ดังนั้นอาจทำได้เพียงบรรเทาอาการโดยการการรักษาทางยา
|
ภาพ รูปแสดงความผิดปกติแบบ Tetralogy of Fallot ทำให้เลือดที่ออกมามีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าปกติ สุนัขอาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ |
ภาพ แสดงการอัลตราซาวด์หัวใจ หากสุนัขมีความผิดปกติที่โครงสร้างของหัวใจ เราไม่อาจรู้ได้เลย
หากไม่ได้ทำการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ( Echocardiogram )
|
ดังนั้น หากเราสงสัยว่า ลูกสัตว์ของเราจะมีโรคเหล่านี้ติดตัวมาหรือไม่ ก็คงต้องพาไปพบสัตวแพทย์ เท่านั้น และหากสงสัย การตรวจวินิจฉัยที่จะยืนยันได้ถูกต้องและแม่นยำที่สุดในปัจจุบันคือ การตรวจอัลตราซาวน์ช่องอก ( Echocardiogram ) เท่านั้น |
___________________________________________
บทความพิเศษจาก โรงพยาบาล สัตว์ สัตวแพทย์ 4 โพลีคลีนิค |